จำนวนผู้ชม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เป็นครูที่ดี..ใช่มีแค่เตรียมการสอน.


เป็นครูที่ดี..ใช่มีแค่เตรียมการสอน.
จากอดีตกาล จนถึงปัจจุบัน อาชีพที่ได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และผู้คนในสังคมได้ให้ความศรัทธา เคารพ นับถือ อย่างจริงใจ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อคนในครอบครัว ถึงขนาดให้เกียรติ ใช้คำนำหน้าเรียก “คุณ” ทุกครั้ง ที่กล่าวถึง คือ คุณหมอ กับ คุณครู ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในสังคม สามารถชี้นำ และเป็นที่พึ่งพิงของคนในสังคมได้



หากจะพิจารณาให้ดีจะพบว่า เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ ในวันข้างหน้า ดังนั้นอนาคตของประเทศชาติ จึงอยู่ในกำมือของ เยาวชน ที่จะเติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน อนาคตของ เยาวชน นั้น อยู่ในกำมือของ “ครู” ที่จะเสกสรร ปั้นแต่ง ให้สวยงาม เลิศหรู หรือ บูดเบี้ยวไร้ค่า ครู จึงเป็นเสมือนเบ้าหล่อหลอม หรือ แม่พิมพ์ที่จะทำให้ศิษย์ ได้รับการพัฒนาให้เป็น คน เต็ม คน คือ ได้รับการพัฒนาทั้งร่างกาย และจิตใจ อย่างสมบูรณ์ แบบ



ภาระหน้าที่ของครู จึงเป็นภาระที่หนัก เพราะการสร้างคนให้เป็น คน โดยสมบูรณ์นั้น จึงมิใช่เป็นเพียง การสอนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ และมีความรอบรู้เท่านั้น แต่ เป็นภาระความรับผิดชอบ ที่ผูกพันด้วยจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง ที่ต้องอาศัยความเพียรพยายาม วิริยะ อุตสาหะ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ครูที่ดี จึงต้องไม่เตรียม แค่การสอน แต่คนที่เป็นครูนั้น ต้องเตรียมทั้งกายและใจ ความคิด ประสบการณ์ ทั้งชีวิต เพื่ออุทิศ ทุ่มเทให้กับการสร้างคน เพื่อให้เป็น คนที่มีคุณภาพ และเมื่อคนมีคุณภาพ เราก็เชื่อมั่นว่า จะสร้างงานที่มีคุณภาพให้ชาติบ้านเมืองต่อไป





ครู สอนให้ศิษย์ มีความรู้ คือ รู้จัก คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่ง เป็นการเรียนรู้อย่างถาวร

ครู ขัดเกลาให้ศิษย์ รู้จักระงับยับยั้ง ควบคุมอารมณ์ ที่จะไม่ประพฤติในทางเสื่อม รู้จักอดกลั้นเอาไว้ให้ได้อย่างหนักแน่น คงเส้นคงวา รู้จักการรับรู้อารมณ์คนอื่น และรู้จักการให้อภัย









ครู อบรมให้ศิษย์ มีคุณธรรม จริยธรรม คือ สามารถละเว้นความชั่ว มุ่งมั่นทำความดี มีความยุติธรรม เชื่อมั่นศรัทธาในกุศลธรรม และกฎแห่งกรรม



ครู ชี้นำให้ศิษย์ มีความเพียรพยายาม ที่จะกล้าเผชิญกับความยากลำบาก มีมานะ บากบั่น อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง และ รู้จักแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ



จากภาระสำคัญของผู้เป็นครู ดังกล่าว ครูจึงต้องมีกลวิธีที่แยบคายในการสอน ให้ศิษย์ ได้เกิดการ เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง กลวิธีในการสอนที่บูรพาจารย์ เคยใช้กันมาตั้งแต่อดีต จนประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างคนให้เป็นใหญ่เป็นโต มีหน้าที่การงาน ถึงขั้นเป็นผู้นำประเทศ มาแล้ว ก็คือ





ต้องแนะให้เขาทำ

ต้องนำให้เขาคิด

ต้องสาธิตให้เขาดู

ต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง

ต้องสลัดทิ้งความเคยชินเก่าๆ

ต้องทำตัวของเราให้เป็นแบบอย่าง



พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ได้พระราชทาน แก่เหล่าอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ... จงอย่าผลิตบัณฑิตให้เป็นเพียง "คนเก่ง" เพราะความเก่งอย่างเดียวเป็นเพียงพลังแห่งความคิดและสร้างสรรค์ ... แต่จะต้องผลิตให้เป็น "คนดี" ด้วย เพราะความดีจะช่วยเตือนสติค้ำจุนเป็นหางเสือ ที่จะทำให้รู้ประพฤติดี ละเว้นความชั่ว ทำให้ความคิดและการสร้างสรรค์เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรในปัจจุบันสังคมเรา โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิต เราอาจจะบกพร่อง โดยไปเน้นแต่จะเอาคนเก่ง ที่ขาดสติสัมปชัณญะ จึงปรากฏพบเสมอว่า ผู้ที่มีความรู้และเก่งนั้น มีความบกพร่อง

อยู่ 4 ประการ คือ

1. เห็นแก่ตัว

2. เห็นผิดเป็นชอบ ทุจจริตโดยไม่สะดุ้งสะเทือน

3. ทะนงตน ข่มผู้อื่น เย่อหยิ่ง

4. ไม่รอบคอบใจร้อน

การสอนให้ศิษย์เป็นทั้ง "คนเก่ง คนดี" นั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของ ครูดังนั้นผู้เป็นครู จึงมิใช่ แค่เพียงสอนหนังสือให้เสร็จไปวันๆ เท่านั้น หัวใจสำคัญของคนที่เป็นครูก็คือ ต้องขัดเกลากิเลสให้กับศิษย์ เพราะนี้คือวิธีการบ่มเพาะ และสร้างคนให้เป็น คนเต็มคน ที่ดีที่สุด หากผู้ใดทำหน้าที่แค่เพียงสอนหนังสืออย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจในความประพฤติของศิษย์ไม่ได้ชี้แนวทางในทางที่ถูก ที่ควร ในทางที่ดีที่งาม ให้กับศิษย์ เขาเหล่านั้นเป็นได้แค่เพียง ผู้รับจ้างขายวิชา มิใช่ ครู

กระจกเงา เรามี ไว้ส่องหน้า ให้รู้ว่า ดีเด่น เป็นไฉน

ครูอยากรู้ ตัวครู เป็นเช่นไร เชิญดูได้ เด็กที่ท่าน สั่งสอนมา




ศิษย์ดี ดูที่ครูดี : ครูดี ดูที่ศิษย์ดี

1 ความคิดเห็น: